บทความ AEC สำคัญที่ควรอ่าน


เลื่อนการเปิด AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ออกไปอีก 1 ปี


ผู้นำชาติอาเซียนตัดสินใจประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) เป็นเวลา 12 เดือน จากเดิมวันที่ 1 มกราคม 2015 ไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2015 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ยังมีความท้าทายหลายประการที่ต้องได้รับการจัดการ รวมไปถึงข้อตกลงและขั้นตอนต่างๆ อีกมากมายที่ประเทศต่างๆ ยังตกลงกันไม่ได้ อาทิ ประเด็นเรื่องการตรวจลงตรา ภาษีอากรสินค้า กฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนระหว่างกัน เป็นต้น ขณะเดียวกัน แม้การดำเนินการของประเทศต่างๆ ตามพิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะคืบหน้าไปมากพอสมควร กระนั้น ผู้นำบางประเทศก็ได้แสดงความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่มีลักษณะข้ามชาติต่างๆ (transnational problems)
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี ฮุน เซ็น ของกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน ได้ให้ความเห็นว่า เพื่อจะบรรลุเป้าหมายการเปิดประชาคมเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ได้ทันเวลา อาเซียนจำเป็นต้องส่งเสริมมาตรการเชิงนโยบายที่จำเป็นต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งประเด็นเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า การติดต่อสื่อสารคมนาคม การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการบูรณาการอาเซียน ฯลฯ


โอกาสของธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง,สินค้าสำหรับโรงแรมและร้านอาหาร ในลาว



สิ่งหนึ่งที่ได้พบจากการศึกษาวิถีชีวิตของประชาชนลาวในนครหลวงเวียงจันทร์ คือ ค่าครองชีพในนครหลวงเวียงจันทร์ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย โดยตัวชี้วัดค่าครองชีพอย่างหนึ่งคือ เฝอ โดยเฝอ 1 ชาม มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 60 บาท ไปจนถึง 100 บาทเลยทีเดียวในขณะที่รายได้ของคนลาวนั้นค่อนข้างต่ำ เช่น พนักงานของรัฐระดับปฏิบัติการ ได้รับเงินเดือนเพียง 1,500 บาทเท่านั้น เหตุที่ราคาเฝอสูงเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัตถุดิบในการประกอบอาหารบางอย่างต้องนำเข้ามาจากประเทศไทย เป็นสาเหตุให้ประชากรวัยทำงานชาวลาว นิยมนำอาหารกลางวันจากบ้านมารับประทานเอง มากกว่าไปรับประทานตามร้านหรือศูนย์อาหารต่าง ๆ
ในนครหลวงเวียงจันทร์ ยังไม่มีห้างค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต มีแต่ตลาดสดและร้านค้ารายย่อยเท่านั้น นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการชาวไทย ที่ไปประกอบกิจการร้านอาหารในนครหลวงเวียงจันทร์ พบว่า นอกเหนือจากอาหารสดแล้ว ผู้ประกอบการวัตถุดิบในการประกอบอาหารหลายอย่างไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าท้องถิ่น แต่จะมีผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ในจังหวัดหนองคาย รับสั่งซื้อและนำไปส่งในฝั่งเวียงจันทร์ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง เพราะรวมค่าขนส่ง ส่งผลให้อาหารมีราคาสูงตามไปด้วย
ในปี 2553 มูลค่าตลาดค้าปลีกค้าส่งในประเทศลาว มีมูลค่าอยู่ที่ 44,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งอาจมาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (Thai Trade Center) ณ นครหลวงเวียงจันทร์ ระบุว่า ธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ และน่าลงทุน ได้แก่ โรงแรมและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว, สปา, ร้านอาหาร และ แฟรนไชส์ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาล
สปป.ลาว มีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว ประมาณ 9 พันล้านบาทในปี 2553 โดยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ภายในเวลา 5 ปี ซึ่งถือว่ามีการเติบโตสูง ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลลาว ให้การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และในหลายภูมิภาคของลาวก็ยังมีแหล่งท่องเทียวเชิงธรรมชาติ และวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวหลายแห่ง แน่นอนเมื่อธุรกิจการท่องเที่ยวและร้านอาหารมีการขยายตัว สิ่งที่ตามมาก็คือ ความต้องการสินค้าโดยเฉพาะอาหาร เพื่อซัพพลายแก่ธุรกิจเหล่านี้ จึงเป็นโอกาสสำหรับทั้งธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง และ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าให้แก่ โรงแรม รีสอร์ต และภัตตาคาร (Hotel Restaurant Café Supply, HORECA)

ที่มา : http://aseanwatch.org/2012/11/21/ประกาศเลื่อนกำหนดการเป/ วันที่ 9 มกราคม 2556 , 16.17 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น